จับตาย ปลาหมอคางดำ“เอเลี่ยนสปีชีส์”ต่างถิ่น-กระตุกสำนึกบริษัทยักษ์ใหญ่ตัวการต้นเหตุการแพร่ระบาดควรมีจิตสำนึกสนับสนุนงบประมาณกำจัดฯบ้าง-เปิดหลากหลายกิจกรรม เสวนา /แข่งขัน/และร่วมกินเมนูเด็ดปลาหมอคางดำ/ขนมจีนน้ำแกงปลาหมอคางดำ
(4 ก.ค.)ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงอย่างหนักในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทางสหกรณ์ผู้เสียงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกู้สงขลา-นครศรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียเนื้อที่ 184 ไร่ของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ หมู่ 10 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 ก.ค. 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป ตามที่เสนอข่าวไปต่อเนื่องแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุดว่า ทางประมงจังหวัดได้ส่งข้อความประชาสัมพันธ์โครงการกำจัดปลาหมอคางดำ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ อาทิ ประกาศจับตาย คดีแดงที่ 14/06/2567 , ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำ กำจัดให้สิ้นซาก พร้อมรับซื้อ แข่งขันไล่ล่าปลาหมอคางดำ รับประทานเมนูปลาหมอคางดำฟรี เป็นต้น ส่งเผยแพร่ทางโซเชี่ยล ได้รับความสนใจจากนักตกปลา นักล่าปลาทั่วจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง
สำหรับในพื้นที่ดำเนินการ ฯในโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฐิ เนื้อที่ 184 ไร่ที่จะดำเนินการระดมจับปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค. ตั้งแต่เวลา 13.00 น.นั้น จากการตรวจสอบพบว่าในหลายจุดจุดคงไม่สามารถทอดแห หรืออวนลากได้ เนื่องจากมีวัสดุอยู่ใต้น้ำจำนวนมากเป็นปัญหาและอุปสรรคในการต่อการดำเนินการทอดแหและวางอวนลาก จึงต้องใช้วิธีการ “ท้วม” คือวางอวนและใช้ไม้หรือวัสดุใด ๆ ก็ได้ไล่ตีน้ำบริเวณโดยรอบเพื่อให้ปลาหมอคางดำ ตกใจและวิ่งออกจากที่รกที่ซ่อนตัวอยู่มาชนอวนที่ดัก และติดอวนของชาวบ้านที่วางดักเอาไว้ก็จะสามารถจับปลาหมอคางดำได้ โดยผู้ที่จับได้ทุกคน ทุกทีมจะต้องนำมาช่างกิโลเพื่อจะได้รวบรวมว่าในวันดังกล่าวจับปลาหมอคางดำได้รวมกี่กิโลกรัมหรือกี่ตัน เมื่อช่างน้ำหนักเสร็จแล้วจะขายหรือแยกขาย หรือนำกลับไปประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือนก็ได้ตามความต้องการ คาดว่าในวันดังกล่าวน่าจะได้ปลาหมอคางดำไม่น้อยกว่า 2 ตันอย่างแน่นอน
สำหรับจุดรับซื้อในขณะนี้ทางโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร) โดยนายปัญญพงษ์ สงพะโยม หัวหน้าฝ่ายขยายผล ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กล่าวว่า ตามปกติทาง กปร.จะรับซื้อแค่วันละ 100-200 กก.เท่านั้นนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำชีวภาพ แต่ในวันที่ 14 ก.ค.นั้นจะรับซื้อมากถึง 1 ตัน แบบคละไซส์ กก.ละ 10 บาท ในขณะที่นายประทีป น้ำขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ได้แจ้งในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมาว่าจะรับซื้อโดยการกำหนดไซด์ใหญ่ขนาด 10-14 ตัว/กก. ๆ ละ 20 บาท ในวันที่ 14 ก.ค. หากผู้ที่ร่วมจับปลาหมอคางดำจับได้จำนวนมากก็สามารถคัดแยกขายโดยไซส์ใหญ่ก็ขายตนในราคา กก.ละ 20 บาท โดยจะรีบซื้อในวันที่ 14 ก.ค.อย่างน้อย 1 ตัน ส่วนไซส์ขนาดเล็กก็นำไปขายใน กปร. กก.ละ 10 บาท อย่างไรก็ตามทราบว่าโรงงานปลาป่นในพื้นที่เขาจะรับซื้อแบบคละไซส์ กก.ละ 5-6 บาทเท่านั้น
นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช นายบุญเยียน รัตนวิชา ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มปากพนัง นายประทีป น้ำขาว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.ขนาบนาก นายณัฐพงศ์ นาคคำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ขนาบนาก ซึ่งรับผิดชอบในการประสานงานเตรียมการในพื้นที่ทั้งการจัดเตรียมเรือพาย เรือหางยาว และเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ได้ประสานงานดำเนินการในพื้นที่เกือบครบสมบูรณ์แล้ว โดยจะมีชาวบ้านในพื้นที่รับทำขนมจีน ทำน้ำแกงขนมจีนด้วยปลาหมอคางดำ เพื่อมาจัดเลี้ยงผู้ร่วมกิจกรรมให้เพียงพอประมาณ 200 คน โดยจะมีการทำแกงเคยปลาที่ทำจากปลาหมอคางดำ มาราดกินขนมจีนด้วย นอกจากนี้จะมีการทำเมนูอื่น ๆ เช่น ปลาหมอคางดำแดดเดียว ปลาเปรี้ยว และอื่น ๆ อีกหลายเมนู
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาในการระดมกำลังกำจัดปลาหมอคางดำคือเรื่องงบประมาณ เนื่องกรมประมง และหน่วยราชการไม่มีงบประมาณสนับสนุน โดยที่ดำเนินการในวันที่ 14 ก.ค. นั้นได้รับภาคเอกชนทั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มปากพนัง และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรี ให้การสนับสนุนงบประมาณ รวม 23,000 บาท คงไม่เพียงพอทางสมาชิกสหกรณ์ ฯและสมาชิกชมรม ฯคงต้องควักกระเป๋าใช้เงินส่วนตัวมาสนับสนุนเพิ่มเติม หากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนหรือประชาชนต้องการจะร่วมสนับสนุนงบประมาณดำเนินการกำจัดปลาหมอคางดำในวันที่ 14 ก.ค. นี้แจ้งความประสงค์และร่วมสนับสนุนได้ที่ นายบุญเยียน รัตนวิชา ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มปากพนัง
“โดยส่วนตัวตนอยากให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นต้นตอและต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำมาจากแอฟริกา 2,000 ตัว เมื่อปี 2549 เพื่อศึกษาวิจัยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงแจ้งกรมประมงเป็นลายลักษณ์อักษรว่าทำลายปลาหมอคางดำหมดแล้ว แต่ไม่มีซากเป็นหลักฐานยืนยัน จนปี 2553 พบมีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ประชาชนคิดว่ามันมาจากไหนจนขยายวงกว้างมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบันกว่า 16 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวก็ตั้งโรงงานขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.ปากพนัง เมื่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมประชาชนร่วมแรงร่วมใจระดมกำลังเปิดปฏิบัติการไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง บริษัทยักษ์ใหญ่ควรมีสำนึกในการเข้ามามีส่วนร่วมมือหรือให้การสนับสนุนงบประมาณบ้างเล็กน้อยก็ยังดี”
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 14 ก.ค.นี้นอกจากการปฏิบัติการไล่ล่าจับปลาหมอคางดำ จะมีการจัดเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีนายไพฑูรย์ อินทศิลา สื่ออาวุโสจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการเสวนา พร้อมถ่ายทอดสดทางสื่อโซเชี่ยลอย่างกว้างขวางอีกด้วย สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวย้ำในที่สุด.
เครดิตภาพ/ข่าว:ไพฑูรย์ อินทศิลา / จ.นครศรีธรรมราช
0 ความคิดเห็น