รู้จัก “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” ต้นตอแผ่นดินไหวกระบี่!
จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2568 เวลา 14.27 น. ที่ผ่านมา เกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ อ.คลองเขม้า อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ที่ละติจูด 8.022 องศาเหนือ ลองจิจูด 98.978 องศาตะวันออก ขนาด 3.5 ความลึก 2 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับแจ้งรู้สึกถึงแรงสั่นไหวบริเวณ อ.เหนือคลอง และ อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่
โดยล่าสุดเพจ “มิตรเอิร์ธ – mitrearth” เพจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 3.4 แสนคน ให้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 3.5 ในพื้นที่กระบี่ เกิดจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
ทั้งนี้สำหรับข้อมูลรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยนั้น จัดกลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ย ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยกลุ่มรอยเลื่อนทั้งสองวางตัวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่านหลายจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่ง Tapponnier และคณะสรุปว่าการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนทั้งสองเป็นรอยเลื่อนเหลื่อมข้างและมีการเลื่อนตัวแบบซ้ายเข้า (sinistral strike-slip movement)
อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายกลุ่มก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า เป็นรอยเลื่อนมีพลังที่สามารถสร้างแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ข้อมูลแผ่นดินไหวที่ตรวจวัดด้วยเครื่องมือตรวจวัด (instrumental record) พบเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็ก-ปานกลาง (2.0-4.0) และเกิดไม่บ่อยนักในกลุ่มรอยเลื่อนนี้ หากเทียบกับกลุ่มรอยเลื่อนอื่นๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย
อย่างไรก็ตามผลจากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เคยมีการศึกษาไว้ในอดีต ผนวกกับนิยามของรอยเลื่อนมีพลัง ที่ได้มีการนำเสนอจากหน่วยงานต่างๆ สรุปได้ว่าตลอดแนวของกลุ่มรอยเลื่อนระนอง-คลองมะรุ่ยนั้น ถือเป็นรอยเลื่อนมีพลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยซึ่งอยู่ด้านล่างนั้นแสดงพฤติกรรมหรือมีกิจกรรมด้านแผ่นดินไหวมากกว่ากลุ่มรอยเลื่อนระนองซึ่งอยู่ทางตอนบน และผลจากการกำหนดอายุยังแสดงให้เห็นว่าแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุดนั้น กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยเกิดในช่วงประมาณ < 10,000 ปี ในขณะที่ กลุ่มรอยเลื่อนระนองนั้น แผ่นดินไหวในรอบ 10,000 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้มีเพียงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ค.ศ. 2006 ที่มีขนาด 5.0 ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดของรอยเลื่อนระนองที่ตรวจวัดได้จากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว โดยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพรได้รับความรุนแรงแผ่นดินไหวระดับ II-IV ตามมาตราเมอร์คัลลี่แปลง
0 ความคิดเห็น